Add Friend


หมอหยง (หมอแมะ)



การแมะหรือตรวจชีพจร

การแมะหรือจับชีพจร
สาเหตุที่คนจะมาพบหมอแมะกัน

1. ปรึกษาเรื่องการมีบุตรยาก เรื่องการมีบุตรยากการมีลูกยากเนี่ยเป็นสาเหตุอันดับต้นๆเลย ไม่ใช่ว่าตอนแรกคู่สามีภรรยาจะไม่ไปหาหมอแผนปัจจุบันนะครับ ส่วนใหญ่แล้วไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อปรึกษาเรื่องการมีบุตรยากมาแล้วทั้งนั้น ทั้งนับวันไข่สุกเพื่อให้ติดลูกได้ง่ายขึ้น(สำหรับคุณผู้หญิง) ทั้งรับประทานยาบำรุงร่างกายทั้งผู้ชายทั้งผู้หญิง ทั้งทำกิฟท์ ทั้งฉีดเชื้อเข้าไข่ สารพัดรูปแบบแต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ท้อง หมอแมะเลยกลายเป็นความหวังสุดท้ายของคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยาก

2. เจ็บป่วยแล้วรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย อันนี้สาเหตุคล้ายกับกรณีแรก คือ ผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ อาจจะดีขึ้นแต่ไม่หายขาดหรือไม่ดีขึ้นเลย หรือไปหาหมอมา 5 โรงพยาบาลแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น และอื่นๆอีก “การตรวจของแพทย์จีนโดยการจับชีพจร” หรือที่เรามักจะคุ้นกับคำว่า “แมะ” อย่างที่เห็นในหนังจีนที่เห็นหมอแก่ๆ ผมยาวๆ ใช้นิ้วจับชีพจรที่ข้อมือผู้ป่วยด้วย 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง สามารถให้ข้อมูลได้มากมายแก่แพทย์จีนเพื่อใช้ในการวินิจฉัยอาการป่วย เพื่อจะให้การรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น ซึ่งจะต่างไปจากแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งไม่นิยมการจับชีพจรแต่จะใช้หูฟังแทน ในขณะที่แพทย์จีนไม่ใช้หูฟังแต่จะใช้วิธีการจับชีพจรแทน (และเป็นเรื่องแปลกครับที่แพทย์จีนในรพ.เฉิงตูที่ผมเคยไปฝึกงานมา นิยมการอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือ EKG ร่วมกับการจับชีพจรด้วย) การใช้หูฟังตรวจโดยแพทย์แผนปัจจุบัน เป้นการตรวจเพื่อฟังเสียงการเต้นของหัวใจ ฟังเสียงผิดปกติของการเปิดปิดลิ้นหัวใจ ฟังเสียงจังหวะหัวใจว่าเต้นผิดปกติหรือไม่ ส่วนการจับชีพจรและการดูลิ้นโดนแพทย์จีนเป็นการตรวจหาความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นภายในร่างกายผู้ป่วยว่า มีสาเหตุจากอะไรและกำลังเกิดขึ้นที่อวัยวะใดบ้าง (แพทย์จีนแบ่งอวัยวะภายในร่างกายออกเป็นอวัยวะจั้ง ซึ่งหมายถึง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต และอวัยวะฝู่ หรือ fu ซึ่งหมายถึง ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร กระเพาปัสสาวะ)


รูปตำแหน่งในการจับชีพจร

ตำแหน่งในการจับชีพจร

**การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการแพทย์จีนไม่เหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบัน**

เช่นผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหัวเหมือนกันทั้งสองคนแต่แพทย์ให้การรักษาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้ว พบสาเหตุของอาการป่วยหรือพยาธิสภาพที่แตกต่างกัน แพทย์จึงให้การรักษาแตกต่างกันไป ในขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยอีกสองคนมาพบแพทย์ด้วยอาการที่ต่างกัน คนหนึ่งมีอาการเวียนหัว มีอาการเสียงดังในหู (ที่เรียกว่า dizziness & tinnitus) กับอีกคนหนึ่งมีอาการอาเจียนและปวดหัวอย่างรุนแรง (ปวดไมเกรน) แพทย์กลับให้การรักษาที่เหมือนกัน เป็นเพราะว่าแพทย์ตรวจพบสาเหตุของอาการป่วยของทั้งสองคนเหมือนกัน จึงมีคำอุปมาอุปมัยว่า “มีอาการเหมือนกันแต่รักษาต่างกันและมีอาการต่างกันแต่รักษาเหมือนกัน” สรุปแล้วการแมะ เป็นวิธีหนึ่งเพื่อตรวจอาการทั่วไปของร่ายกายว่ามีส่วนใดผิดปกติหรือไม่ โดยวัดจากค่าการเต้นของหัวใจ ความเกร็ง ความตึง ความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด ฯลฯ นอกจากการแมะแล้วยังรวมถึงการตรวจลักษณะการเดินเหิน การแสดงท่วงท่า สีหน้า สีผิว เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาหลายชั่วอายุคน…

เจริญบุตรคลินิก CharuenbudClinic @2014